Home
|
Login
หน้าหลัก
>
กิจกรรม/ผลงาน
โคเนื้ออินทรีย์ (Kaset Organic Beef)
เริ่มประกาศเมื่อ : 11-12-2567
สิ้นสุดเมื่อ : 30-12-2568
ฟาร์มโคเนื้ออินทรีย์
ผู้ให้ข้อมูล ศ.ดร.สุริยะ สะวานนท์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
“ฟาร์มโคเนื้ออินทรีย์” ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน เกิดขึ้นจากการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยทางด้านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โคกำแพงแสน โดยนำลักษณะเด่นพื้นฐานของโคพันธุ์กำแพงแสนมาต่อยอดเพื่อผลิตเนื้อโคที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อโคที่มีไขมันแทรกสูง โดยใช้โควากิวมาผสมกับโคพันธุ์กำแพงแสน ได้โคลูกผสมกำแพงแสนวากิวทำการเลี้ยงขุนโดยให้อาหารที่มีพลังงานสูง และในอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาระบบการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงคือ การนำระบบการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์มาผลิตเนื้อโคคุณภาพ ซึ่งลักษณะเด่นของการผลิตโคเนื้อในระบบอินทรีย์ที่เป็นแรงจูงใจให้ภาควิชาสัตวบาลได้พัฒนาระบบการผลิตโคเนื้ออินทรีย์ต้นแบบ เพื่อถ่ายถอดองค์ความรู้ไปให้เกษตรกรต่อไปในอนาคต คือ
1) ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะเป็น องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และเป็นการผลิตปศุสัตว์แบบยั่งยืนที่รักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญทั้งดิน น้ำ อากาศ และพืชหรือสัตว์ที่อยู่ภายในฟาร์ม รวมถึงกระบวนการเลี้ยงการจัดการและการให้อาหารคุณภาพดีที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ หรือไม่ใช้สารเคมีใดๆ ไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยาและให้มีความหลากหลายพืชและสัตว์ให้มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เลี้ยงสัตว์ไม่หนาแน่น และเป็นการเลี้ยงสัตว์แบบไม่ให้มีการปลดปล่อยของเสียออกสู่สภาพแวดล้อม รวมทั้งการไม่ใช้อาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม
2) ด้านความปลอดภัยของอาหาร เนื้อโคอินทรีย์มีลักษณะเด่นหรือมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคหลายประการทั้งมีวิตามินเอและวิตามินบีรวม มีไขมันในเนื้อไม่มากนักและกรดไขมันที่พบในเนื้อโคอินทรีย์เป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์สูง เช่น มีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่อโอเมก้า 6 ในสัดส่วนที่เหมาะสมและมีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือกรดไขมัน CLA (Cojugated Linoleic Acid) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภค เช่น ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด ลดการสะสมของไขมันในร่างกาย ทำให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตโดยเพิ่มการสะสมของโปรตีนในร่างกาย และป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้เนื้อโคที่ผลิตในระบบอินทรีย์ปลอดจากการใช้ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ สารสังเคราะห์หรือสารเคมีต่างๆในทุกขั้นตอนการผลิต และตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรสภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์
3) ด้านความเป็นธรรม การผลิตโคเนื้อในระบบอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าหรือผลิตผล และในการตลาดเป็นการผลิตน้อยราย ดังนั้นผู้ผลิตจะสามารถกำหนดราคาจำหน่ายที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพภายใต้ระบบการผลิตที่รักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นภาควิชาสัตวบาลจึงได้วานแผนการดำเนินการสร้างฟาร์มโคเนื้ออินทรีย์ภายใต้มาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 มกษ. 9000-2552 และเกษตรอินทรีย์ เล่ม 2 มกษ. 9000-2554 บนพื้นที่ 95 ไร่ และแปลงหญ้าเนเปียร์อินทรีย์ 40 ไร่ ตั้งแต่ไป พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาโดยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้รับการรับรอง “ระบบการผลิตพืชอาหารสัตว์อินทรีย์” (กษ 02 9000 73905000001 ORGANIC) และวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ฟาร์มได้รับการรับรอง “ระบบการผลิตโคเนื้ออินทรีย์” (กษ 02 9000 73901000008 ORGANIC) จากกรมปศุสัตว์เป็นฟาร์มแรกในประเทศไทย และในขณะนี้ภาควิชาสัตวบาลอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบโรงเชือดและการแปรรูปเนื้อโคอินทรีย์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นต้นแบบในการผลิตโคเนื้อในระบบอินทรีย์ของประเทศไทยต่อไป
การผลิตโคเนื้อในระบบอินทรีย์ เป็นการนำลูกโคเนื้อกำแพงแสนหรือโคลูกผสมกำแพงแสนวากิวที่หย่านม (อายุ 6-8 เดือน) เข้ามาเลี้ยงและจัดการในระบบโคเนื้ออินทรีย์ ประมาณ 25-30 ตัว โดยในช่วงแรกของการผลิตโคจะได้กินหญ้าแบบอิสระในแปลงหญ้าขนอินทรีย์บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ และเสริมด้วยกระถินอินทรีย์จนกระทั่งโคมีน้ำหนักตัวมากกว่า 400 กก. จากนั้นโคเนื้อจะถูกนำเข้ามาเลี้ยงขุนภายใต้มาตรฐานอินทรีย์ โดยโคจะถูกนำมาขุนในพื้นที่แปลงหญ้าขนอินทรีย์ประมาณ 10 ไร่ และมีการเสริมอาหารข้นอินทรีย์ 4 กก./ตัว/วันและหญ้าเนเปียร์อินทรีย์มาให้กินอย่างเต็มที่จนกระทั่งโคอ้วนสมบูรณ์และมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 500 กก. หรืออายุประมาณ 35 เดือน โคจะถูกนำเข้าแปรสภาพในโรงฆ่าโค-กระบือ ของภาควิชาสัตวบาล จากนั้นซากโคจะถูกบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้เนื้อโคมีความนุ่ม และทำการตัดแต่งและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากโคเนื้อที่เลี้ยงในระบบอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป
การตลาดเนื้อโคที่ได้จากการผลิตในระบบอินทรีย์ การตลาดเนื้อโคอินทรีย์เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพและผู้สูงวัย เนื่องจากเนื้อโคมีคุณสมบัติดีเด่นต่อร่างกายของผู้บริโภค โดยภาควิชาสัตวบาลได้วางกลยุทธ์ในการทำตลาดในแบรนด์หรือชื่อผลิตภัณฑ์ “เนื้อโคอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” หรือ “Kaset Organic Beef” โดยมีช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านค้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ KU Premium Market ทั้งวิทยาเขตกำแพงแสนและบางเขน และการฝากขายในร้าน Max Beef หรือห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น ร้านริมปิง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เช่น เฟซบุ๊ค เว็บไซต์ และไลน์ ให้ติดต่อได้สะดวก
ในปี 2566 ภาควิชาสัตวบาล ได้เข้าร่วมการประกวดโครงการฟาร์มต้นแบบ “ปศุสัตว์อินทรีย์ BCG MODEL” กับกรมปศุสัตว์ โดยได้รับรางวัล “ระดับดี ประเภทฟาร์มโคเนื้อ” จากอธิบดีกรมปศุสัตว์
ภาพกิจกรรม/ผลงาน
ข่าวคณะเกษตร กำแพงแสน
บุคคล/ผลงานสร้างชื่อเสียง
Slide Show
พัฒนาระบบโดย : น.ส.ดวงกมล ด้วงจุมพล หน่วยผลิตสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140