นมแพะเข้าใจยาก แต่เผลอแล้วจะหลงรัก
เราเคยคิดกันว่า "ถ้าจะลองดื่มนมแพะ ก็จะต้องได้กลิ่นคาวหรือกลิ่นสาบแพะ" ไม่ใช่แค่เรา เกษตรกรคนเลี้ยงแพะก็คิดอย่างนั้น เราต่างรู้กันดีว่านมแพะนั้นมีประโยชน์ และเป็นตัวเลือกที่จะมาทดแทนนมวัวได้ แต่หลายคนต้องยอมถอยก็คงเพราะกลิ่นคาวหรือกลิ่นสาบของมันนี่แหละ แต่วันนี้ความเชื่อเดิมนั้นอาจจะเปลี่ยนไป เมื่อได้มาลองดื่มนมแพะตรา KU ที่ร้านเกษตรอภิรมย์
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ท่านหนึ่งจากคณะเกษตร กำแพงแสน ได้ลองชิมนมแพะจากเกษตรกรรายหนึ่งที่หยิบยื่นมาให้ ปรากฏว่ากลิ่นสาบของมันแทบไม่มี จนเกือบเข้าใจผิดว่านมที่ดื่มไปนั้นเป็นนมวัว ตั้งแต่นั้นมา ความคิดที่ว่านมแพะต้องมีกลิ่นสาบจึงถูกลบล้างไป และเป็นที่มาของการเข้าไปพัฒนามาตรฐานการผลิตให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ
กว่าจะได้นมแพะที่ไม่สาบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใส่ใจดูแล ไล่ตั้งแต่ต้นทางที่การเลี้ยงดูเรื่อยมาจนถึงการรีดนม ทุกขั้นตอนจะต้องพิถีพิถันและลงรายละเอียด ถึงจะเป็นนมแพะเกรด A ที่ไม่สาบให้เราได้ดื่มกัน ที่คณะฯ จะมีการรับซื้อนมแพะจากเกษตรกรไว้เป็นวัตถุดิบตลอด และต้องแบ่งเกรดตามคุณภาพนม เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรมีกำลังใจผลิตนมแพะชั้นดีออกมา และเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผลิตจากคณะตั้งต้นจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีจริงๆ สิ่งหนึ่งที่คณะฯ ได้เข้าไปให้การสนับสนุนเกษตรกรก็คือความรู้การจัดการสุขลักษณะและการสร้างระบบมาตรฐาน เกษตรกรจะได้ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกกันเอง
อย่างที่รู้กันว่านมนั้นนอกจากจะนำมาดื่มแล้ว ยังนำไปแปรรูปหรือเป็นส่วนผสมในสินค้าอย่างอื่นได้อีก "หากให้เปรียบ นมแพะก็จะเหมือนกับนางเอกเจ้าน้ำตา ส่วนนมวัวก็เหมือนนางเอกแก่นแก้วที่เข้าได้กับทุกคน จะเอานมวัวไปทำของว่างหรือขนมก็อร่อย ไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน ต่างกับนมแพะ ที่เป็นนางเอกเก็บตัวเข้าใจยาก แต่หากได้ลองทำความเข้าใจแล้ว ความรักนั้นก็จะหอมหวาน" ผศ.ดร.ศศิธร นาคทอง แห่งภาควิชาสัตวบาลและโครงการจัดตั้งภาควิชานวัตกรรมอาหารปลอดภัย ได้เปรียบเทียบไว้อย่างจับใจ
การจะนำนมแพะไปแปรรูปเป็นโยเกิร์ตหรือไอศกรีมนั้นไม่ง่ายเลย จะใช้ขั้นตอนแบบเดียวกับนมวัวก็ออกมาได้ไม่ดีเท่า ดังนั้น จึงต้องอาศัยการเอาใจใส่และทุ่มเทมากเป็นพิเศษ ถึงจะได้รสชาติของโยเกิร์ตหรือไอศกรีมอย่างที่วางขายที่ร้านเช่นในทุกวันนี้ และคณะจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ 3 อย่างนี้เท่านั้น จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าถูกใจและเกษตรกรก็มีกำลังใจในการผลิตน้ำนมที่มีคุณค่าต่อไป