เกษตรให้สุข ทุกฝ่ายได้ดี
การเกษตรในทุกวันนี้อาจจะไม่ได้มีแค่การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจอีกต่อไป ถ้าจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ให้ดูที่คณะเกษตร กำแพงแสน
แน่นอนว่าการผลิตวัตถุดิบคุณภาพนั้นยังคงเป็นภารกิจหลัก แต่คณะเกษตร กำแพงแสน ภายใต้การนำของ รศ.ดร. ปภพ สินชยกุล คณบดี ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น คณะฯ ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแปรรูปด้วยนวัตกรรม การทำธุรกิจ จนได้สินค้าปลอดภัยและมีคุณภาพมาอยู่ในมือผู้บริโภค
"ถ้าหวังอยากได้เงินจำนวนมาก คณะเกษตรอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากหวังความสุขด้วยแล้ว คณะเราคือคำตอบสุดท้าย" นี่คือสิ่งแรกที่อาจารย์สื่อสารให้เข้าใจถึงความหมายของคณะ ส่วนความสุขนั้นมาจากไหน ก็มาจากการที่สินค้าเกษตรสามารถหล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่ได้ นี่แหละเป็นคุณค่าของการทำการเกษตร
สินค้าที่ผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมเริ่มมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีและอาจจะไม่กลายเป็นที่ต้องการอีกต่อไปในอนาคต เพราะหลายอย่างยังต้องพึ่งพิงสารเคมีหรือการแปรรูปที่เปลี่ยนสินค้าเกษตรไปเป็นอย่างอื่นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เช่น อาหารกระป๋อง สแน็ค หรือแม้แต่น้ำผลไม้ก็ตาม ซึ่งตัวของอาจารย์เองมองว่ามันเป็นวิถีที่ออกห่างจากธรรมชาติ เชื่อว่าในอนาคตคนเราจะอยากใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าตอนนี้ และสินค้าที่ผลิตในปริมาณน้อยแต่คุณภาพดีจะมีความสำคัญ เช่น อาหารปรุงสดใหม่ที่เน้นคุณภาพวัตถุดิบจากเกษตรเป็นหลัก "วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่เอาไว้เพื่ออธิบายหลายอย่างในธรรมชาติมากกว่า"
"คนที่คลุกคลีกับการเกษตร จะหาความสุขได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แม้แต่การได้กินน้ำเย็นซักแก้วยังมีความสุขเลยถ้าได้ไปทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำมา และการเกษตรยังสร้างโอกาสให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรียนรู้การปลูกผักให้ได้ผลผลิตดี แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ด้วย นิสิตที่จบออกไปจากที่นี่จะได้เรียนรู้การใช้เกษตรเพื่อใช้ชีวิตและดูแลครอบครัว ขยายไปถึงการประกอบอาชีพและทำธุรกิจ พร้อมมีปรัชญาชีวิตติดตัวไปด้วย"
นิสิตที่เรียนที่นี่จะเข้าใจเส้นทางกว่าจะที่มาเป็นสินค้าคุณภาพได้สักชิ้น ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป และการนำออกมาจำหน่าย เรียกได้ว่าเรียนรู้กันตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ซึ่งนิสิตจะมีโอกาสได้เลือกผลิตสินค้าจากหลักสูตรถึง 22 หลักสูตร เป็นการค้นหาตนเองตั้งแต่เริ่มเรียนปี 1 อย่างโฟมล้างหน้าจากรังไหม นิสิตก็จะเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหม แปรรูป จนออกมาเป็นสินค้าวางขายอยู่ในร้าน นี่ช่วยให้นิสิตเกิดความภูมิใจและรู้จักความสำเร็จ แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยแต่สิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ซึ่งคณะพร้อมสนับสนุนให้นิสิตไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรก็ตาม
"คนที่มาที่นี่จะต้องมีความสุขและได้บางอย่างกลับไปให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็น นิสิต อาจารย์ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เราพร้อมจะเป็นศูนย์กลางในการบริการทางวิชาการ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีและมีความสุขผ่านสังคมเกษตร" รศ.ดร. ปภพ กล่าวทิ้งท้าย