ประวัติความเป็นมา

           แผนกเกษตรศาสตร์ ในสังกัดคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มกิจการเรียนการสอนด้านปฐพีวิทยาสำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี ของปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต มาตั้งแต่เริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2486
           ในปี พ.ศ. 2497 ได้รับการยกฐานะเป็น หมวดวิชาปฐพีวิทยา ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับการจัดตั้งเป็น แผนกวิชาปฐพีวิทยาในคณะเกษตร
           นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนเป็น ภาควิชาปฐพีวิทยา
           ภาควิชาปฐพีวิทยาได้เริ่มการเรียนการสอน ระดับปริญญาโททางปฐพีวิทยา ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาปฐพีวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา และได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ปฐพีวิทยา) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ซึ่งนับว่าเป็นภาควิชาปฐพีวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านปฐพีวิทยาในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทางปฐพีวิทยา ครบทั้ง 3 ระดับ
           ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2546 ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน ได้บริหารงานและมีกิจกรรมการเรียนการสอนในวิทยาเขตกำแพงแสนโดยแยกจากวิทยาเขตบางเขน
           ในปัจจุบัน ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน รับผิดชอบกิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัย ในหลักสูตรทางปฐพีวิทยาครบทั้ง 3 ระดับ คือ ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาปฐพีวิทยา, ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ปฐพีวิทยา),ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดการทางดิน) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปฐพีวิทยา) นอกจากนี้ภาควิชาปฐพีวิทยายังรับผิดชอบกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตรสหวิทยาการที่เป็นความร่วมมือกับคณะเกษตร กำแพงแสน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ทั้งหลักสูตรภาคปรกติ และหลักสูตรนานาชาติ


ปรัชญา และ พันธกิจ

           ภาควิชาปฐพีวิทยา ได้วางเป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัย เพื่อความเป็นเลิศทางปฐพีวิทยา โดยการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเพื่อสร้างบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ของดิน เทคโนโลยีทางดินและปุ๋ย และวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่มีความรู้ พร้อมคุณธรรมและจริยธรรม และภาควิชาปฐพีวิทยาสามารถสร้างผลงานวิจัยให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
           ภาควิชาปฐพีวิทยา กำหนดพันธกิจของบุคลากรภาควิชา ดังนี้
           1. การสอนทางปฐพีวิทยา
           2. การวิจัยทางปฐพีวิทยา
           3. การบริการทางวิชาการด้านปฐพีวิทยา ดินและปุ๋ย
           4. การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม